วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

สูตรดีท็อกซ์ทำเองได้! ง่ายๆ แค่ 7 วัน




       ปวดหัวบ่อย ๆ หงุดหงิดตลอดเวลา ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีสารพิษสะสมในร่างกายมากเกินไป มาดีท็อกซ์ล้างพิษกันหน่อยดีมั้ย
     - เตรียมตัวให้พร้อมก่อนดีท็อกซ์ จะดีท็อกซ์ทั้งทีต้องวางแผนกันหน่อยเริ่มจากลดน้ำตาลสัก 1-2 สัปดาห์ก่อนดีท็อกซ์ พวกแป้งขัดสีส่วนแอลกอฮอล์หรืออาหารกระป๋องก็เพลาๆ ลงบ้าง และดื่มน้ำให้มากขึ้น ส่วนสาวๆ คนไหนทีติดกาแฟก็ค่อยๆ ลดปริมาณลงทีละน้อยจนกว่าจะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งกาเฟอีนแล้วค่อยเริ่มดีท็อกซ์นะ

     - พร้อมแล้วก็เริ่มเลย สูตรที่นำมาฝากนี้ใช้ได้ตั้งแต่ 7–21 วัน โดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สาวๆ ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองได้เลยว่าจะให้เวลากับการดีท็อกซ์ครั้งนี้กี่วันหลักการง่ายๆ จำไม่ยากก็คือตื่นเช้าให้ดื่มน้ำมะนาวครึ่งลูกผสมกับน้ำเปล่าอุ่นๆ หนึ่งแก้ว แล้วตลอดช่วงที่ดีท็อกซ์ให้งดแป้งและเนื้อสัตว์ทั้งหลาย แล้วกินแต่ผัก ผลไม้ โดยเน้นพวกผักใบเขียวเข้มๆ เช่น บร็อกโคลี่ คะน้า หน่อไม้ฝรั่ง จะทำเป็นสลัดน้ำใส หรือนึ่งให้สุกก็ได้แต่ห้ามปรุงรสนะจ๊ะ ส่วนผลไม้ควรเป็นส้มโอ แก้วมังกร สับปะรด ฝรั่ง หรือไม่ก็สตรอวเบอร์รี่ แต่ต้องกินสดๆ เท่านั้นไม่ต้องเชื่อมหรืออบแห้งใดๆ ทั้งสิ้น

     - พวกถั่วอบและธัญพืชต่าง ๆ ก็กินได้บ้างเล็กน้อยแต่อย่าปรุงแต่งรสก็แล้วกัน
     - ห้ามเผลอปากเด็ดขาด พวกนม ชีส ไข่ ถั่วเหลือง ชา กาแฟ แป้ง เนื้อสัตว์ แอลกอฮอล์ อย่าได้เผลอกินเข้าไปเลยเชียว เพราะความพยายามของคุณจะล้มเหลวทันที อ้อ! พวกผักผลไม้กระป๋องก็ห้ามนะ เตือนตัวเอง เอาไว้ว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงล้างสารพิษจะเพิ่มพิษเข้าตัวเองไปทำไม

     - ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ดื่มน้ำเปล่าอุ่นๆ หรืออุณหภูมิห้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยก็ 10 แก้วต่อวัน แต่มีทริกอยู่ว่าหลังกินอาหารเสร็จใหม่ๆ ให้ดื่มน้ำแก้ติดคอได้เล็กน้อย แล้วเว้นระยะห่าง 15 นาทีเพื่อให้น้ำย่อยทำงานได้เต็มที่แล้วค่อยดื่มแบบจัดหนักนะจ๊ะ

     - ดีท็อกซ์…แล้วดียังไง อาจจะเหมือนอดอาหารธรรมดาแต่ช่วงที่ดีท็อกซ์นี้ร่างกายของคุณจะได้พักปรับสมดุล ทำความสะอาดลำไส้และแบคทีเรียที่เป็นโทษ ต่อร่างกายออกไป ลำไส้จะทำงานได้ตามปกติ ร่างกายก็จะสดชื่นระบบการทำงานในร่างกายดีขึ้นผิวใส ออร่าเปล่งประกาย และ น้ำหนักก็ลดลงด้วยนะ!

Did You Know :
     - มนุษย์เราเป็นสัตว์กินพืชเวลาที่เรากินเนื้อสัตว์ ระบบย่อยต้องทำงานหนักมาก และต้องใช้เวลานานถึง 7 วัน เนื้อสัตว์จะหมักหมมอยู่ในลำไส้ บูดเน่า และเกิดเป็นแก๊สพิษสะสมและตกค้างอยู่ในร่างกาย
     - ดีท็อกซ์เป็นแค่การล้างสารพิษตกค้างในร่างกาย ไม่ใช่การรักษาโรคนะจ๊ะ


ประโยชน์ของการดีท็อกซ์ล้างพิษในร่างกาย











ที่มา...Lisa 

สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วพู




       ถั่วพู หรือ ผักถั่วพู อีกหนึ่งผักที่มีคุณค่าทางอาหารที่ดีต่อร่างกายและมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรได้อีกด้วยค่ะ 

    สรรพคุณ / ประโยชน์ของถั่วพู      การกินถั่วพูก็ยังมีกากใยอาหารมากทำให้ระบบขับถ่ายของเราเป็นไปอย่างปกติ ท้องไม่ผูก นอกจากนั้นแล้วหัวของถั่วพูก็สามารถนำไปตากแห้งแล้วคั่วไฟให้เหลืองนำมาชงเป็นน้ำดื่มชูกำลังสำหรับคนป่วยหรืออ่อนเพลียง่ายได้อีกด้วย

    คุณค่าทางอาหารของถั่วพู      ถั่วพู 100 กรัม ให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 93.8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.4 กรัม โปรตีน 2.1 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม เส้นใย 1.2 กรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 43 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.8 มิลลิกรัม วิตามินบี1 0.35 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.14 มิลลิกรัม วิตามินซี 32 มิลลิกรัม
    สรรพคุณของถั่วพู      - หัวใช้บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้กาฬ 
      - ราก แก้โรคลมพิษกำเริบ ดีฟุ่ง ทำให้คลั่งเพ้อ ปวดท้อง ถั่วพูใช้รักษาสิวและโรคผิวหนังบางชนิด
      - ตำรายาโบราณว่า ให้นำเมล็ดถั่วพลูมาต้มโดยคัดเอาเฉพาะเมล็ดแก่สีน้ำตาลเข้มจะรับประทานเมล็ดที่ต้มสุกเลยก็ได้ หรือนำเมล็ดที่ต้มสุกมาบดให้ละเอียดผสมน้ำสุกดื่มก่อนอาหาร 3 เวลา จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงเพิ่มกำลังวังชา



ประโยชน์ของผักสีสันต่างๆ










ที่มา..n3k.in.th 

นมเปรี้ยวเครื่องดื่มมากประโยชน์

  ด้วยประโยชน์และคุณค่ามากมายจากนม สามารถกระตุ้นให้คนทั่วไปหันมาดื่นนมกันเพิ่มมากขึ้น นอกจากนมสดแล้ว ยังมีนมอีกหนึ่งชนิดที่มีประโยชน์และคุณค่าไม่แพ้กันนั่นคือ ‘นมเปรี้ยว' ซึ่งเกิดจากการหมักจุลินทรีย์ในนมจนเกิด รสเปรี้ยว และอาจเติมแต่งสี กลิ่น รส ให้เป็นที่น่ารับประทาน โดยจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวพบตามปกติในทางเดินอาหาร ไม่สร้างสารพิษและไม่ก่อให้เกิดโรค เป็นกลุ่มแลคโตบาซิลลัส ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายผู้บริโภค โดยจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวสามารถก่อประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
      ยกระดับภูมิคุ้มกันโรค นอกจากจุลินทรีย์จะช่วยป้องกันและรักษาโรคได้ด้วยฤทธิ์ที่เป็นยาฆ่าเชื้อแล้ว ยังมีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้นด้วย และช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเชื้อแลคโตบาซิลัสจะช่วยควบคุมปริมาณโคเลส- เตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ อีกทั้งเชื้อแลคโตบาซิลัสยังช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โดยสามารถจับสารก่อมะเร็ง จับโลหะหนักและกรดน้ำดีซึ่งมีพิษ ยับยั้งกลุ่มแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างไนเตรทได้ ช่วยเปลี่ยนสารฟลาโว-นอยด์ (flavonoids)จากพืชให้เป็นสารต้านมะเร็ง

       ช่วยให้ย่อยง่าย จุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวจะสร้างเอ็นไซม์ที่สามารถย่อยอาหารได้มากกว่าปกติ เช่นเอ็นไซม์ย่อยโปรตีน จะช่วยให้การย่อยเคซีน(โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีมากในนม) ช่วยให้มีการหลั่งน้ำลายและเอ็นไซม์ในกระเพาะอาหารและตับอ่อนมากขึ้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสร้างเอ็นไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งคนทั่วไปจะขาดเอ็นไซม์นี้ ทำให้บางคนทานนมแล้วมีอาการท้องเสีย เนื่องจากน้ำตาลแลคโตสไม่ถูกย่อย แต่จุลินทรีย์ที่เติมลงในนมเปรี้ยวนี้ไปช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตส ช่วยให้ไม่เกิดอาการท้องเสีย นอกจากนี้จุลินทรีย์ที่สร้างกรดแลคติกยังทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็กได้ดีขึ้น

      ควบคุมจุลินทรีย์ในลำไส้และยับยั้งเชื้อโรค ในนมเปรี้ยวมีการสะสมของสารเมตาบอไลท์ (Metabolite) ที่จุลินทรีย์ผลิตกรดแลคติก (lactic acid) ขับออกมา สารเหล่านี้มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการในลำไส้ได้หลายชนิด ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นควรรับประทานนมเปรี้ยวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีกลุ่มจุลินทรีย์ที่ดีอาศัยอยู่ภายในลำไส้ ช่วยยับยั้งเชื่อโรคของอาหารที่เป็นพิษ

      เป็นแหล่งวิตามินบี 1 และวิตามินเค แบคทีเรียในนมเปรี้ยวสามารถสังเคราะห์วิตามินบี 1และวิตามินเคในลำไส้ ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ป้องกันโรคเหน็บชา และช่วยในการแข็งตัวของเลือด

       รักษาอาการท้องเสีย การดื่มนมเปรี้ยวที่เกิดจากวิธีการหมักจะเป็นนมเปรี้ยวที่มีทั้งกรดแลคติก และเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ในน้ำนม ทุกครั้งที่ดื่มนมเปรี้ยว ไม่เพียงแต่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์เท่านั้น แต่ยังได้รับจุลลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตจำนวนหนึ่งเข้าสู่ร่างกาย จุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยปรับสภาพของลำไส้ให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุลอีกครั้ง และทำให้อาการท้องเสียหายไปได้ รวมถึงสามารถรักษาโรคท้องเดินและแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีชีวิตนี้คือตัวการสำคัญที่ทำให้นมเปรี้ยวมีคุณค่าต่อร่างกาย

      การดื่มนมเปรี้ยว ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ แต่นมเปรี้ยวก็ให้โทษได้เหมือนกันถ้ากระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคและสารต่างๆ นอกจากนี้หากบริโภคไม่หมดภายในหนึ่งวัน ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และไม่ควรดื่มนมเปรี้ยวเป็นอาหารหลักควรดื่มเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ดี ที่สำคัญควรดูวันผลิตก่อนซื้อ และควรดูวันหมดอายุก่อนรับประทานเสมอ

ประโยชน์ระหว่างนมยูเอชทีกับนมเปรี้ยว












ที่มา...เปรียว 

ปวดยอดอก เจ็บกระเพาะ อาจไม่ใช่โรคกระเพาะ




       อาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่) บางครั้งเรียกว่า "อาการอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)" เป็นอาการที่พบบ่อยในคนทั่วไป และมักมีสาเหตุจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร (นิยมเรียกว่า "โรคกระเพาะอาหาร" หรือ "โรคกระเพาะ") เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ โรคแผลกระเพาะอาหาร/ลำไส้เล็กส่วนต้น โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น
      สาเหตุเหล่านี้มักจะทำให้ทุเลาได้ด้วยยาลดกรด หรือยารักษาโรคกระเพาะที่ช่วยลดปริมาณน้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จึงจัดว่าเป็นยายอดนิยมชนิดหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อมาใช้เอง แต่พึงต้องตระหนักไว้เสมอว่า อาการปวดยอดอกหรือเจ็บกระเพาะนั้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ ถ้ากินยารักษาโรคกระเพาะแล้วไม่ทุเลา หรือเคยทุเลาแต่กลับมาไม่ได้ผล (ดื้อยา) หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดจะดีกว่า 

ปวดบิดเกร็ง... คนละอาการกับโรคกระเพาะ      คุณสมหญิง อายุ 35 ปี กินยาคุมกำเนิดมา 10 กว่าปี เคยมีประวัติเป็นโรคกระเพาะ เป็น ๆ หาย ๆ มา 2 ปี คราวนี้มีอาการปวดยอดอกและชายโครงขวามานานกว่าครึ่งชั่วโมง จึงกินยาลดกรดที่เคยใช้มาก่อน แต่ครั้งนี้กินไปแล้วไม่ได้ผล มีอาการปวดรุนแรงกว่าที่เคยเป็น จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอซักถามอาการได้ความว่า คราวนี้มีอาการปวดแปลกกว่าที่เคย เมื่อก่อนจะปวดจุกแน่นท้องตอนหลังกินข้าว แต่ครั้งนี้ปวดแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ คล้ายปวดแบบท้องเดิน หลังจากไปกินข้าวมันไก่เจ้าอร่อยมา คุณหมอส่งตรวจอัลตราซาวนด์ ก็พบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีตามที่สงสัย

      โรคแต่ละอย่างแม้จะมีอาการปวดที่ตำแหน่งเดียวกัน แต่จะมีลักษณะอากาปวดแตกต่างกันตามกลไกของการเกิดโรค จึงควรสังเกตลักษณะอาการที่แตกต่างกันนี้ให้ดี จะมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคอย่างมาก

มัวแต่กินยากระเพาะ จนเมื่อน้ำหนักลด...ก็เสียเสียแล้ว       คุณสมศรี อายุ 45 ปีเป็นพยาบาลทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอหนึ่ง มีอาการปวดแสบลิ้นปี่ตอนก่อนกินข้าวทุกมื้อ และมักจะทุเลาหลังกินข้าวหรือดื่มนม หรือกินยาลดกรด (น้ำขาว ๆ) ปรึกษาหมอที่ใกล้ชิดก็เห็นตรงกันว่าเป็นโรคกระเพาะอยู่นาน 2 เดือนตามสูตร ก็รู้สึกว่าหายดี แต่หลังจากหยุดยาได้ไม่ถึงสัปดาห์ อาการก็กลับมาอีก จึงกินยาต่อไปเรื่อย ๆ อีก เกือบปีต่อมา คุณสมศรีสังเกตว่ายาไม่ค่อยได้ผล และน้ำหนักลดไป 2-3 กิโลกรัม จึงได้ไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัด หมอทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะ ก็พบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารระยะท้ายเสียแล้ว รักษาตัวอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต

      มะเร็งในบริเวณช่องท้อง (เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ) ในระยะแรกอาจมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอย่างแยกไม่ออก บางรายหมอทำการตรวจเบื้องต้น ก็ไม่พบรอยโรค และอาจให้การรักษาแบบโรคกระเพาะนานเกือบปี จนกระทั่งก้อนมะเร็งโตขึ้นชัดเจน หรือทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จึงค่อยพบเข้า ซึ่งก็มักจะเป็นมะเร็งในระยะท้าย ๆ

      ดังนั้น ทางการแพทย์จึงวางแนวทางไว้ว่า เมื่อมีอาการปวดลิ้นปี่ในลักษณะใด หรือถึงเวลาใดควรจะต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม 

มาห้องฉุกเฉินได้ยาโรคกระเพาะ...กลับไปตายกลางทาง      คุณลุงสมศักดิ์ อายุ 65 ปี เป็นโรคเบาหวานมา 10 กว่าปี คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมาตลอด น้ำหนัก 75 กก. สูบบุหรี่วันละเกือบซอง ไมได้ออกกำลังกาย ตอนหลังยังตรวจพบระดับไขมันในเลือดสูง

      ค่ำวันหนึ่งหลังกินอาหารเย็น คุณลุงรู้สึกจุกแน่นลิ้นปี่ ลองกินยาหอมก็ไม่ดีขึ้น เป็นอยู่นานร่วม 2 ชั่วโมง จึงเหมารถไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลประจำอำเภอ หมอตรวจดูเบื้องต้นก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ จ่ายยารักษาโรคกระเพาะให้กลับไปบ้านระหว่างเดินทางกลับ คุณลุงก็เสียชีวิตอย่างกะทันหัน

      ที่แท้คุณลุงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หากตรวจไม่ถี่ถ้วนก็จะคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ ดังนั้น โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงได้วางแนวทางในการรักษาอาการปวดลิ้นปี่/เจ็บหน้าอกไว้ว่า ควรตรวจหาโรคหัวใจในกรณีใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น กรณีคุณลุงสมศักดิ์มีปัจจัยเสี่ยงถึง 6 อย่าง ได้แก่ อายุมากกว่า 55 ปี น้ำหนักตัวเกิน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย 

โทร.ทางไกลปรึกษาเรื่องโรคกระเพาะ...ลงเอยด้วยการทำบอลลูนหัวใจ
      ค่ำวันหนึ่งเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว ผมได้รับโทรศัพท์จากคุณสมชัย เพื่อนรุ่นพี่ที่ไปทำงานอยู่ที่พัทยา คุณสมชัย (อายุ 58 ปีในตอนนั้น) รักษาโรคความดันมาเกือบ 20 ปี สูบบุหรี่วันละครึ่งซอง เขาบอกว่า 2-3 วันมานี้รู้สึกมีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่เป็นบางครั้ง มักเป็นหลังกินอาหารอิ่ม ๆ แต่ละครั้งจะเป็นอยู่นานชั่วครู่เดียว ก็ทุเลาไปเอง ผมถามย้ำว่ามีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกรร่วมด้วยหรือไม่ เขาก็ยืนยันว่าไม่มี

      เมื่อดูถึงปัจจัยเสี่ยง (อายุเกิน 55 ปี เป็นโรคความดันสูง สูบบุหรี่ รวมทั้งไม่ค่อยได้ออกกำลังและน้ำหนักมากตามที่ผมทราบอยู่แล้ว) แม้อาการโรคหัวใจมีไม่ครบเครื่อง คือ ไม่มีอาการปวดร้าวขึ้นข้างบน (ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางรายได้) ผมก็ยังไม่วางใจ จึงแนะนำให้เขาไปตรวจหัวใจที่โรงพยาบาล จากการตรวจคลื่นหัวใจและทดสอบด้วยการวิ่งสายพาน ก็พบว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และได้ทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ 2 เส้น พร้อมกับใส่สะเตนต์ (stent-หลอดลวดตาข่ายถ่างอยู่ภายในหลอดเลือด) 2 เส้น ราคาเส้นละ 1 แสนบาท

      หลังจากนั้นเพื่อนรุ่นพี่คนนี้ของผมก็เลิกบุหรี่ ออกกำลัง และรักษาตัวอย่างจริงจัง มีสุขภาพแข็งแรงมาจนทุกวันนี้

เมื่อไรควรคิดถึงเหตุอื่นมากกว่าโรคกระเพาะ
      ผู้ที่มีอาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่) ควรคิดถึงโรคอื่นมากกว่าโรคกระเพาะ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

      มีอาการปวดต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ไม่ยอมหาย
      มีอาการปวดรุนแรง
      มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ หรือขากรรไกร
      รู้สึกใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม
      อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
      น้ำหนักลด
      อาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายอุจจาระดำ
      คลำได้ก้อนในท้อง
      มีลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ
      กินยารักษากระเพาะไม่ได้ผล หรือได้ผลตอนแรกแต่ตอนหลังไม่ได้ผล

เมื่อไรควรส่องกล้องตรวจกระเพาะ
       ทางการแพทย์ได้วางแนวทางไว้ว่า ผู้ที่มีอาการของโรคกระเพาะ (แสบท้องเวลาหิว หรือจุกแน่นท้องเวลาอิ่ม เกือบทุกมื้อ) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อส่องกล้องตรวจกระเพาะ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

      อายุมากกว่า 40 ปี (เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร)
      กินยารักษาโรคกระเพาะ 1-2 วันแล้วไม่ได้ผลเลย
      กินยารักษาโรคกระเพาะ 2 สัปดาห์แล้วยังไม่หายดี ขาดยาเพียง 1-2 มื้อกลับกำเริบอีก
      กินยารักษาโรคกระเพาะจนครบ 2 เดือน จนรู้สึกว่าหายดีแล้ว หลังจากหยุดยานานเป็นแรมเดือน หรือแรมปีกลับมามีอาการกำเริบอีก

สาเหตุของอาการปวดยอดอก (ลิ้นปี่)
      กลุ่มโรคฉุกเฉินที่ต้องรีบเข้ารักษาโรงพยาบาลที่สำคัญ ได้แก่

      1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงบริเวณยอดอก (ตรงกลางลิ้นปี่) มักมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร อาการมักรุนแรงหรือปวดอย่างต่อเนื่องไม่หาย (นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ) มีอาการอ่อนเปลี้ย หมดแรง ใจหวิว ใจสั่น และอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรือหัวใจวายกะทันหัน
      2. โรคกระเพาะอาหารทะลุ (peptic perforation) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจุกแน่นตรงลิ้นปี่ฉับพลัน และเป็นต่อเนื่องไม่หาย (นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ) มักมีอาการใจหวิว ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หน้าท้องเกร็งแข็ง

กลุ่มโรคไม่ฉุกเฉิน ที่พบบ่อย ได้แก่
      1. โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina pectoris) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นหรือจุกแน่นหน้าอกตรงบริเวณยอดอก (ลิ้นปี่) มักมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร มักมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงครู่เดียว นานไม่เกิน 5 นาที นั่งพักก็จะทุเลาได้เอง
      2. โรคแผลกระเพาะอาหาร / ลำไส้เล็กส่วนต้น (peptic ulcer) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบลิ้นปี่เวลาหิว จุกแน่นลิ้นปี่หลังกินอาหารนาน ประมาณ 30-60 นาที เวลากินยาลดกรด (ยารักษาโรคกระเพาะ) อาการจะทุเลา มักมีอาการเวลาก่อนหรือหลังเกือบทุกมื้อ
      3. โรคกรดไหลย้อน (GERD) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบหรือจุกแน่นลิ้นปี่ อาจมีอาการเรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอ แสบหรือจุกแน่นที่ลำคอ มักเป็นหลังกินอาหารหรือเวลาเข้านอน เวลากินยาลดกรด (ยารักษาโรคกระเพาะ) อาการจะทุเลา
      4. โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (cancer of stomach) แรกเริ่มจะมีอาการแบบโรคกระเพาะอาหาร แต่อีกหลายเดือนต่อมาอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจมีอาการอาเจียน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ
      5. โรคนิ่วน้ำดี หรือนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงข้างขวา มีลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ (ปวดในลักษณะคล้ายอาการปวดท้องเดินหรือปวดประจำเดือน) นาน 15-30 นาที หรือนาน 2-6 ชั่วโมง แล้วทุเลาไปได้เอง บางรายอาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่ไหล่ขวา หรือใต้สะบักขวา อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบเป็นบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารมัน
      6. โรคตับ : ตับอักเสบ (hepatitis) ตับแข็ง (cirrhosis) มะเร็งตับ (cancer of liver/hepatoma) ผู้ป่วยมักมีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่หรือใต้ชายโครง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองร่วมด้วย ถ้าเป็นมะเร็งตับมักมีอาการน้ำหนักลดฮวบฮาบ และคล้ำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
     ปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้       อายุ : ชายมากกว่า 55 ปี หญิงมากกว่า 65 ปี
       พันธุกรรม : มีญาติสายตรงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี)

     ปัจจัยที่แก้ไขได้       เบาหวาน
       ความดันโลหิตสูง
       ไขมันในเลือดสูง
       ภาวะอ้วน
       สูบบุหรี่
       ขาดการออกกำลัง

 อาการแสดงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
      ปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงยอดอก (ตรงกลางลิ้นปี่) และมักปวดร้าวขึ้นไปที่คอ หัวไหล่ ขากรรไกร แต่บางรายอาจไม่มีอาการปวดร้าวแบบนี้ก็ได้

      มักมีเหตุกำเริบ ขณะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นบันไดสูงหลายชั้น ออกกำลังหนัก) มีอารมณ์เครียด ขณะสูบบุหรี่ หลังกินอาหารอิ่ม ๆ อาบน้ำเย็น หรือถูกความเย็น

ถ้าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ
      ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บหน้าอกเพียงครู่เดียว นานไม่เกิน 5 นาที เมื่อนั่งพักก็จะทุเลาได้เอง มักเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว ขณะไม่มีอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดี

ถ้าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
      ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือปวดอย่างต่อเนื่องไม่หาย มีอาการอ่อนเปลี้ย หมดแรงใจหวิวใจสั่น และอาจหน้ามืด เป็นลม หรือหัวใจวายกะทันหันเกิน 5 นาที เป็น ๆ หาย ๆ เมื่อมีเหตุกำเริบ


ยารักษาหรือบรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร














ที่มา...หมอชาวบ้าน 

ทำไม..ผู้ใหญ่ต้องฉีดวัคซีน




       คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า วัคซีนเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม บาดทะยัก ซึ่งในความ เป็นจริงแล้ววัคซีน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกวัย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปัจจัย ดังกล่าว คือ 

      1. เพศ... ในเฉพาะบางวัคซีนเท่านั้น เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) แต่ในปัจจุบันทางการแพทย์ แนะนำให้ผู้ชายในกลุ่มรักร่วมเพศ รับวัคซีนชนิดนี้ด้วย 
      2. อายุ... ในคนทั่วไปอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปทุกคน แนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม เนื่องจากถ้าเกิดการติดเชื้อแล้ว โรคปอดบวมอันตรายถึงชีวิต
      3. อาชีพ... เพราะบางอาชีพต้องรับวัคซีนเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล หรือ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ จำเป็นต้องรับวัคซีนหลายชนิด เพื่อป้องกัน ไม่ให้เอาโรคเหล่านี้ไปติดคนไข้ เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เป็นต้น หรือ สัตวแพทย์ ก็ต้องรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย 
      4. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ มากกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคตับ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ กลุ่มนี้จำเป็นต้องรับวัคซีน ป้องกันโรคมากกว่าคนทั่วไป เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม วัคซีนป้องกันโรคไอกรน ฯลฯ

      ซึ่งการระบาดของโรคต่างๆ ก็มักจะเกิดในหน้าฝน ขอแนะนำให้รับวัคซีนดังนี้
      1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกัน หลังรับวัคซีนแล้ว 2 สัปดาห์
      2. วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (โรคปอดบวม)
      3. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งขณะนี้พบว่ามีการระบาดในภาคอีสานของประเทศไทย
      แต่อย่าลืมนะคะ ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ กินของร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ซึ่งจะช่วยลดการระบาด หรือ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เป็นอย่างดีค่ะ



วัคซีนที่แนะนำให้ผู้ใหญ่ฉีด

ดื่มนมสดก่อนนอนดีอย่างไร




      สงสัยมาตลอด... ทำไมคุณแม่ต้องให้เราดื่มนมสดก่อนนอน..
      การดื่มนมสดก่อนนอนนั้น จะทำให้แคลเซียมที่ดื่มก่อนนอนถูกดูดซึมและยังคงค้างอยู่ในกระแสเลือด ไม่ถูกขับถ่ายไปซะก่อนเหมือนตอนกลางวัน จึงยังคงได้ทันเป็นกำลังสำรองให้ร่างกายนำไปใช้ในกระบวนการะปรับสมดุลเคมีในตอนกลางคืนหลังจากเราหลับ เพื่อทำให้ภาวะทางเคมีในร่างกายเป็นกลางเช่นที่ควรเป็นตามปกติ และการดึงแคลเซียมมาช่วยในกระบวนการปรับสมดุลเคมีนี้จะทำให้เราร่างกายเราปรับสมดุลได้ดีขึ้นมีสุขภาพที่แข็งแรง อารมณ์คงที่นั่นเองค่ะ
       แต่ในทางกลับกัน หากปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือ ร่างกายมีแคลเซียมในเลือดน้อย ระบบปรับสมดุลย์นี้จะดึงแคลเซียมจากกระดูกและไปละลายแคลเซียมออกมาจากกระดูก อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนไงล่ะคะ ...

แคลเซียมกับนมแต่ละชนิด
















ที่มา...โฟรโมสต์ 

ดื่มน้ำเย็นๆ ไม่ดีต่อสุขภาพ




      คุณรู้หรือไม่ว่าการดื่มน้ำที่เย็นๆ นั้น มันไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ชอบที่จะดื่มน้ำเย็นๆ เพราะว่าดื่มแล้วก็จะทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้นมา จากที่ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง คุณรู้หรือไม่ว่าการดื่มน้ำที่เย็นๆ นั้นจะมีผลต่อสุขภาพของคุณอย่างมาก
      และด้วยสภาพแวดล้อมรวมถึงอากาศของบ้านเรามันร้อนอย่างมาก เพราะฉะนั้นแล้วทำให้คนส่วนมากชอบดื่มน้ำเย็นๆ เพื่อที่จะดับความกระหาย ซึ่งจริงๆ แล้วการดื่มน้ำเย็นนั้น สามารถส่งผลเสียสำหรับร่างกายคนเราได้ สาเหตุมาจากการที่ร่างกายของคนเรานั้นจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับร่างกายอยู่ประมาณที่ 32 องศา ซึ่งน้ำเย็นที่เราดื่มมันจะต้องมีอุณหภูมิมันต้องต่ำกว่า 32 องศาอย่างแน่นอน
       สำหรับการย่อยอาหารของร่างกายก็จะมีการหลั่งของสารคัดหลั่ง ซึ่งจะเป็นพวกเอ็นไซม์ สำหรับการย่อยอาหารและสารพวกนี้ถูกออกแบบมาสำหรับการทำงาน ซึ่งจะมีอุณหภูมิปกติ สำหรับร่างกายคนเราและอุณหภูมิที่ต่ำนั้น ทำให้ไปลดการทำงานของสสารเอนไซม์สำหรับการย่อยอาหาร ซึ่งก็เป็นสาเหตุของการย่อยได้ไม่ดีเท่าที่ควร

      สำหรับระบบทางเดินอาหารก็ยังมีกล้ามเนื้อต่างๆ และกล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะได้รับความเย็นจากการดื่มน้ำเย็นๆ เข้าไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการชาได้

      สำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ดื่มน้ำเย็นก็คือ จะทำให้เกิดท้องอืดมีอาการท้องเฟ้อ ทำให้เกิดระบบของการย่อยอาหารที่ไม่ดีเป็นสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้วเราควรจะดื่มน้ำเย็นให้น้อยลงเพราะว่าจะได้มีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม



การดื่มน้ำช่วยให้ระบบขับถ่ายมีประสิทธิภาพ













ที่มา...cintaya.com